วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การนอน


การนอนหลับ คือ สภาวะทางร่างกายขณะไม่มีสติสัมปชัญญะเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคนคืนแล้วคืนเล่า แม้ว่าจะให้มนุษย์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงสว่างสม่ำเสมอ ไม่มีสัญญาณใดๆ บ่งบอกเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ตามการง่วงหลับและการตื่นขึ้นก็จะยังสามารถเกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ
โดยทั่วไปเรามักเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนต้องการนอนหลับพักผ่อน 7 - 9 ชั่วโมงจึงเพียงพอ แต่ความเป็นจริง มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการนอนน้อยกว่านี้ก็ทำให้สดชื่นได้ สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในช่วงกลางวัน ได้เป็นปกติ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการนอนมากกว่า 8 ชั่วโมงจึงจะพอ
ในทารกแรกเกิดพบว่าเด็กนอนได้เกือบตลอดทั้งวัน ยกเว้นช่วงที่ตื่นขึ้นมากินนม เมื่ออายุได้ 1 ขวบ เวลา นอนและเวลาตื่นจะเท่าๆ กันคือ 12 ชั่วโมง ในเด็กโตความต้องการนอนจะลดเหลือประมาณ 10 ชั่วโมง ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ต้องการการนอน 7-8 ชั่วโมง บางคนนอนน้อยกว่านี้ (< 6 ชั่วโมง) และ บางคนมากกว่านี้ (>9 ชั่วโมง) เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นอนหลับมากกว่า 10 ชั่วโมงในแต่ละคืน แต่วิคเตอร์ ฮิวโก และวินสตัน เชอร์ชิลล์ ไม่นอนเกิน 5 ชั่วโมงต่อคืน การนอนจะเริ่มลดระยะเวลาลง เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ในผู้สูงอายุเวลาการนอนกลางคืนจะลดลง ตื่นบ่อย และมักนอนกลางวัน
ดังนั้นมนุษย์แต่ละคนต้องการการนอนไม่เท่ากัน นอนเท่าไรถึงจะเพียงพอจึงขึ้นอยู่กับความรู้สึก เฉพาะตัวที่ทำให้สดชื่น และกระปรี้กระเปร่าพร้อมที่จะทำงานในวันใหม่ได้อย่างเต็มที่ การนอนหลับสำคัญกว่าที่เราคิด ถึงแม้มนุษย์จะนอนหลับคืนแล้วคืนเล่า แต่การนอนหลับเป็น กิจกรรมที่เข้าใจยากที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ ทั้งที่ช่วงการ นอนหลับเป็นช่วงที่อันตรายที่สุด เพราะการรับรู้โลกภายนอก และความสามารถในการป้องกันตนเองจะลดลงอย่างมาก ปลาโลมาซึ่งต้องขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำเป็นระยะๆ ยังนอนหลับ โดยที่มีสมองอีกซีกหนึ่งตื่นอยู่เสมอ การศึกษาของมูลนิธิการนอนหลับแห่งชาติ (National Sleep Foundation) สหรัฐอเมริกาพบว่า 21% ของ ประชาชนอเมริกันมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ จนถึงขั้นมีปัญหา ง่วงนอน และรบกวนความสามารถในการทำงานช่วงกลางวัน
อย่างน้อย 2-3 วัน ต่อสัปดาห์ และที่น่าตกใจคือ 17% ของชาวอเมริกันเคยงีบหลับขณะขับรถในช่วงปี ที่ผ่านมา โดยที่ 1-3% ของอุบัติเหตุทางรถยนต์มาจากความง่วงนอนของคนขับ จากหลายสาเหตุทั้ง การอดนอนจากการเที่ยวกลางคืนของวัยรุ่น การทำงานเป็นผลัดโดยเฉพาะกะกลางคืน การดื่มสุราและ การใช้ยาที่มีส่วนกดระบบประสาท เช่น ยาแก้หวัดบางชนิด และโรคที่รบกวนการนอน
เมื่อคนเราอดนอนจะทำให้เกิดปัญหาทางอารมณ์ เพราะเกิดความไม่สมดุลในร่างกายและจิตใจ เช่น หงุดหงิด อามรณ์แปรปรวน ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เกิดปัญหาการมองเห็น เช่นอาการร้อนในลูกตา แสบตา เห็นภาพผิดปกติ หรือประสาทหลอน (หลังอดนอน 3 วัน) บางคนมีอาการเหมือนเข็มแทงที่มือ และเท้า และจะไวต่อความเจ็บปวดมาก
การอดนอน คือ การนอนไม่เพียงพอทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ จะทำให้เกิด “หนี้การนอน (sleep debt)” ซึ่งจะได้รับการชดเชยเสมอในการนอนหลับคืนถัดไป ถ้าเราอดนอนมากเกินไปหรืออดนอน คืนละน้อยแต่หลายคืนติดต่อกัน มันจะสะสมจนเกิดความง่วงจนไม่สามารถฝืน และอาจหลับในได้ ในเวลาต่อมา ช่วงที่เราง่วงหรือหลับใน เป็นช่วงที่ความสามารถในความจำ การตัดสินใจ การทำงาน ประสานกันของกล้ามเนื้อลดลงจนขาดหายไป และนำไปสู่อุบัติเหตุต่างๆ ได้ง่ายที่สุด
ปัญหาที่อาจพบได้ในขณะนอนหลับ สำหรับบางคนจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาภายในร่างกายขณะนอนหลับ ซึ่งอาจจะเกิดการ ขาดลมหายใจ หรือมีลมหายใจลดลงเป็นระยะในช่วงการนอนหลับ (sleep apnea-hypopnea syndrome) ขึ้นได้ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ รวมถึงทำให้คุณภาพและปริมาณการ นอนหลับไม่ดีพอด้วย ในระยะยาวมีโอกาสจะทำให้บุคคลนั้นเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และอัมพฤกษ์อีกด้วย ประเด็นนี้ยังรวมถึงโรคไหลตายที่พบมากในคนอีสาน และในต่างประเทศที่เป็นกันมาก โดยยังไม่มีผู้พิสูจน์สาเหตุได้แจ่มชัดจนวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น